ข่าว ธุรกิจออนไลน์ 100%

วันพฤหัสบดีที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558

กลโกงในการหลอกขายสินค้าออนไลน์

ระบบคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันนี้มีความฉลาดอย่างมากในการดักจับข้อมูลของผู้ใช้โดยที่ผู้ใช้เองไม่รู้ตัว ด้วยกลไกของระบบการตลาดทำให้มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนในการเก็บข้อมูลของผู้บริโภคผ่านการใช้งานอินเทอร์เน็ตได้โดยง่าย เช่น บน facebook ก็จะทราบว่าผู้ใช้งานรายนี้เคย search หาข้อมูล หรือกด Like แฟนเพจเกี่ยวกับเรื่องอะไร เป็นลูกค้าของกลุ่มสินค้าอะไร มีความสนใจด้านไหน ก็จะขึ้นโฆษณาที่ตรงกับความสนใจของผู้บริโภครายนั้น เช่นเดียวกับระบบอีเมลสาธารณะก็มีการโฆษณาตามข้อมูลความสนใจของผู้บริโภค หรือแม้แต่เว็บไซต์แหล่งสืบหาข้อมูล (search engine) เช่น Google ก็จะเก็บข้อมูลของการค้นหาข้อมูลของผู้ใช้งานเช่นกัน ว่า search หาข้อมูลเกี่ยวกับอะไร จึงเป็นโอกาสที่มิจฉาชีพจะสืบค้นข้อมูลได้ว่ากลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการ หรือความสนใจในสินค้าประเภทนี้มีใครบ้าง และก็ฉวยโอกาสในการโกงได้ ซึ่งวงจรของกลโกงที่มิจฉาชีพร้านขายสินค้าปลอมมักจะใช้เพื่อหาเหยื่อนั้นมี 6 ขั้นตอน ได้แก่
  1. มิจฉาชีพจะติดต่อหาเหยื่อที่กำลังต้องการสินค้า โดยแฝงตัวไปอยู่ในกลุ่มแฟนเพจ หรือเปิดเว็บไซต์ปลอมและแอบโฆษณาแฝงผ่านแฟนเพจต่างๆ ที่มีผู้ชมเป็นจำนวนมาก เช่น แฟนเพจดารา คนดัง เป็นต้น และทำให้คนเห็นและสนใจติดต่อกลับไปหา
  2. สร้างความเชื่อถือด้วยภาพสินค้า และหลักฐานปลอมเพื่อระบุตัวตน ซึ่งจริงๆ แล้วอาจเป็นภาพที่หาได้บนอินเทอร์เน็ต การเขียนข้อความ Review ปลอมขึ้นมา เพื่อให้ดูน่าเชื่อถือ และใส่ข้อมูลของชื่อผู้ขายปลอม ช่องทางการติดต่อต่างๆ ที่ชัดเจนเพื่อให้เหยื่อหลงเชื่อ ซึ่งเคยมีกรณีที่ผู้ขายหลอกขายตุ๊กตาเฟอร์บี้โดยแอบอ้างว่าเป็นดารามาแล้ว และมีเหยื่อที่หลงเชื่อเป็นจำนวนมาก
  3. หว่านล้อมให้เหยื่อยอมโอนเงินค่าสินค้า หากเหยื่อรู้สึกว่าราคาถูกจนผิดปกติ หรือ รู้สึกไม่ไว้วางใจ มิจฉาชีพก็จะพยายามพูดโกหกเพื่อตอบข้อสงสัยของเหยื่อ เช่น บอกว่าขายราคาถูกเพราะไม่มีค่าลงทุนในการเปิดเว็บไซต์ เน้นรับมาจากแหล่งผลิตและขายให้กับผู้บริโภคเลย เป็นต้น จนเหยื่อยอมโอนเงินค่าสินค้าให้
  4. ส่งสินค้าปลอมให้เหยื่อ หรือในกรณีที่แย่ที่สุด คือไม่ส่งสินค้าใดๆ ให้เลย หลังจากได้รับเงินแล้ว มิจฉาชีพก็จะถือว่าเหยื่อติดกับแล้ว และเตรียมการหลบหนี
  5. ปิดช่องทางการสื่อสาร และหลบหนี  ลบข้อมูลทุกอย่างทิ้ง ปิดเบอร์โทรศัพท์ ลบอีเมลทิ้ง และหลบหนีปกปิดตัวตนของตน ทำให้เหยื่อติดต่อกลับไม่ได้ และเริ่มรู้ตัวว่าถูกหลอกแล้ว จะแจ้งตำรวจก็ค่อนข้างยากในการหาหลักฐานต่างๆ
  6. เปลี่ยนชื่อ หลักฐาน เริ่มวงจรหลอกลวงใหม่
สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้แถลงการณ์ถึงการร้องเรียนของผู้บริโภคในเรื่องปัญหาการใช้บริการของธุรกิจออนไลน์ ซึ่งที่ผ่านมาพบว่ามีจำนวนกว่า 200-300 รายที่ได้ร้องเรียนปัญหาจากการตกเป็นเหยื่อของการซื้อสินค้าออนไลน์ ซึ่งส่วนมากที่พบจะเป็นกลุ่มของสินค้าประเภทของแบรนด์เนมที่มีราคาแพง โดยเฉพาะกระเป๋า รองเท้า นาฬิกา และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกซ์ ซึ่งขายในราคาถูกกว่าราคาท้องตลาด ผู้ที่ร้องเรียนประสบปัญหากับการได้รับสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ คุณภาพต่ำกว่าที่โฆษณา ได้สินค้าไม่ตรงกับที่สั่งซื้อหรือไม่ตรงกับที่ต้องการ และที่แย่ที่สุดก็คือไม่ได้รับสินค้าเลย (มี.ค. 2557 เว็บไซต์ ch3.sanook.com) ผู้บริโภคที่ฉลาดรู้ ฉลาดซื้อ อย่าหลงเชื่อโฆษณาเพียงเพราะสินค้าราคาถูก เพราะบางครั้งของถูกอาจจะไม่ใช่ของดีเสมอไป และควรระมัดระวังกลโกงในการซื้อของออนไลน์เอาไว้ด้วย
หากตกเป็นเหยื่อของการฉ้อโกงผ่านการซื้อขายออนไลน์ สามารถคลิกแจ้ง
สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) 
ที่อยู่ : ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคาร B) ชั้น 5 ถนนแจ้งวัฒนะ ทุ่งสองห้อง หลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10210
ข้อมูลการติดต่อ : โทรศัพท์ 1166
ลิงค์หน่วยงาน : http://www.ocpb.go.th/
อีเมลติดต่อ : consumer@ocpb.go.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น