Work from home อนาคตของการทำงาน
ถ้าพูดถึงเรื่องของการทำงานแบบ Work from home เราเชื่อว่าตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาหลายบริษัท น่าจะได้ลองทำกันมาบ้างแล้ว และก็น่าจะมีหลายบริษัทที่ประกาศให้เรื่องของการทำงานแบบ Work from home ได้กลายเป็นนโยบายหลักในการทำงานไปแล้ว แต่ก็น่าจะมีอีกหลายบริษัทเช่นกัน ที่หัวหน้า หรือผู้บริหาร ยังคาใจไม่มั่นใจว่าการทำงานแบบ Remote มันจะดีจริง ๆ เหรอ แล้วมันจะเป็นอนาคตของการทำงานต่อจากนี้จริง ๆ ใช่ไหม
วันนี้เลยอยากจะมาพูดถึงเรื่องของการทำงานแบบ Work from home กันว่า มันมีข้อดี หรือข้อเสียอะไรบ้าง
ประโยชน์ 4 ข้อที่เกิดขึ้นจากการ Work from home
1. Productivity มากขึ้น:
Work from home สามารถเพิ่ม Productivity ให้กับคนทำงานได้จริง ๆ ไหม จนถึง ณ ตอนนี้ เราก็ยังเชื่อว่าต้องมีผู้บริหาร หรือหัวหน้าอีกหลายคน ที่ยังไม่มั่นใจว่าจะให้พนักงาน ทีมงาน ลองเริ่มทำงานแบบ work from home ดูบ้างดีไหม อาจจะเพราะกลัวพนักงานจะอู้บ้าง กลัวไม่ทำงานบ้าง กลัวงานไม่เสร็จบ้าง กังวลว่าเขาจะเอาเวลาไปทำอย่างอื่นที่ไม่ใช่งานบ้าง หรือพูดรวม ๆ ก็คือ กลัวว่า Productivity ของพนักงานนั้นจะลดลง
เรื่องนี้บอกได้เลยว่าไม่เป็นความจริง และแทบจะออกมาในทางตรงกันข้ามด้วยซ้ำ
ในปี 2019 Airtasker มีการทำสำรวจคนที่ทำงานเต็มเวลา 1,004 คน ในสหรัฐฯ เกี่ยวกับ Productivity ของพวกเขา โดยใน 1,004 คนนั้น มี 505 คนที่ทำงานแบบ Remote โดยทีมที่ทำการศึกษาพบว่าคนที่ทำงานแบบ Remote นั้นทำงานมากกว่า คนที่ทำงานอยู่ออฟฟิศเป็นหลัก อยู่ที่ 1.4 วัน ต่อเดือน หรือ 16.8 วันต่อปี
ซึ่งเรื่องนี้สอดคล้องกับงานวิจัยในปี 2015 จากมหาวิทยาลัย Stanford ที่ทำการศึกษาประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน Call Center 16,000 คน ในบริษัทตัวแทนท่องเที่ยวจีน พบว่ากลุ่มพนักงานที่ทำงานแบบ Work from home สามารถเพิ่ม Productivity ในการทำงานได้มากถึง 14%
และเช่นกันในการศึกษาของ MindMetre พบว่า 56% ของผู้ตอบแบบสอบถาม รู้สึกว่าการการทำงานแบบ Remote ช่วยให้พวกเขามีสมาธิจดจ่อกับงานมากขึ้น ในขณะที่ 53% บอกมันสามารถช่วยเพิ่ม Productivity ให้กับพวกเขาได้
2. มีความพึงพอใจในงานมากขึ้น:
จากรายงานการสำรวจของ Morar Consulting’s ในปี 2017 เผยว่า 38% ของแรงงานในสหรัฐฯ ที่มีการ Work from home อย่างน้อยสัปดาห์ละหนึ่งวัน จะมีความพึงพอใจในการทำงานในระดับที่สูงกว่า คนทำงานที่ไม่ได้รับสิทธิ์นี้
3. ทำให้อัตราการ turnover ลดลง:
ข้อมูลจากงานวิจัยของ UK Government’s Department for Business Innovation & Skills รายงานว่า ความยืดหยุ่น ในการทำงานมีผลทำให้อัตราการลาออกของพนักงานนั้นลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
และจากงานการศึกษาของมหาวิทยาลัย Stanford ที่ทำร่วมกับ Ctrip นั้นก็ยังแสดงให้เห็นว่าการทำงานที่ยืดหยุ่น หรือการทำงานแบบ Remote สามารถช่วยลดความอยากลาออกของพนักงานได้ถึง 50% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ทำงานในออฟฟิศเป็นหลัก
4. สามารถลดต้นทุนของ Office หรือสำนักงานลงได้:
การที่พนักงานสามารถทำงานแบบ Remote ได้จะทำให้ออฟฟิศขนาดใหญ่มีความจำเป็นลดลง สำหรับคนที่ทำธุรกิจจะรู้และเข้าใจดีว่า ค่าเช่าออฟฟิศหรือสำนักงานนั้นถือได้ว่าเป็นหนึ่งในต้นทุนที่ค่อนข้างสูงทีเดียว
ทำให้ตอนนี้มีบริษัทใหญ่ ๆ หลายแห่งเริ่มปรับเปลี่ยนออฟฟิศ หรือสำนักงานให้มีความเป็น hot desk มากขึ้น (โต๊ะทำงานแบบหมุนเวียน) แต่แน่นอนว่ายังคงมีห้องประชุมต่าง ๆ ไว้ให้ใช้
คือ มีการเปลี่ยนพื้นที่ทำงานให้มีความเป็น Co-Working Space มากขึ้น พร้อม ๆ กับลดใช้พื้นที่อาคารสำนักงานลง
พอพูดถึงข้อดี หรือประโยชน์ที่ได้รับกันแล้ว เราก็ต้องมาดูฝั่งของข้อเสียกันบ้าง
สิ่งที่ต้องระวังจากการ Work from home
ถ้าตัดเรื่องของสัญญาณอินเทอร์เน็ต ตัดเรื่องของอุปกรณ์การทำงานต่าง ๆ ออก ผมว่ามี 2 สิ่งที่คนเป็นหัวหน้าทีม หรือผู้บริหารต้องใส่ใจมาก ๆ
1. การทำงานที่มากเกินไป:
เรื่องนี้ถ้าฟังเผิน ๆ ในมุมของหัวหน้า หรือผู้บริหารก็ฟังดูดีใช่ไหมครับ ที่ทีมของเราสามารถทำงานได้เยอะขึ้น Productive มากขึ้น
มันก็ดีนั่นล่ะครับ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด…
เพราะเมื่อไม่มีเวลาพักเบรค ไม่มีการพูดคุยเล่นกับเพื่อนร่วมงาน ไม่มีต้องเสียเวลาเดินทาง ทำให้คนทำงานหลายคนเลือกที่จะทำงานอย่างขะมักขะเม่น คือ ทำ ทำ ทำ แล้วก็ทำ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความเหนื่อยล้าสะสมจากการทำงานโดยที่ไม่รู้ตัว หรืออาจจะทำให้เกิดอาการ Burnout ได้ ฉะนั้นไม่ว่าจะทำงานที่บ้านหรือที่ไหน การจัดเวลาให้ดียังคงเป็นเรื่องที่สำคัญ
2. ความเครียด:
เรื่องนี้ถ้าฟังเผิน ๆ ในมุมของหัวหน้า หรือผู้บริหารก็ฟังดูดีใช่ไหมครับ ที่ทีมของเราสามารถทำงานได้เยอะขึ้น Productive มากขึ้น
จริงๆ ข้อนี้จะว่าเป็นผลพ่วงมาจากข้อหนึ่ง (การทำงานมากเกินไป) ก็ว่าได้ แต่มันมีสิ่งที่อาจจะเป็นตัวกระตุ้นอื่น ๆ ที่เสริมเข้าไปด้วย เช่น บางคนอยู่คอนโดที่เตียงนอนกับโต๊ะทำงานติดกันเลย บางคนนั่งทำงานบนเตียงเลยก็มี ซึ่งทำให้การแยกระหว่างเวลาพัก กับเวลาทำงานนั้นยิ่งยากขึ้นไปอีก หรือบางคนอาศัยอยู่เพียงคนเดียว เรียกว่าทำแต่งานจริง ๆ เพราะไม่ได้ไปเจอใครเลย
เรื่องของสถานที่เป็นเรื่องที่แก้ไขได้ยาก ก็ต้องพยายามจัดให้เหมาะมากที่สุดเท่าที่แต่ละคนจะจัดได้ ส่วนเรื่องของการไม่ได้เจอคน ไม่ได้ Chit Chat กับเพื่อนร่วมงานนั้น แก้ด้วยการจัด Meeting ที่คุยเรื่องงาน แต่ผสมเรื่องอื่น ๆ เข้าไปด้วยก็จะช่วยทำให้คนทำงานรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น
เมื่อเราได้รับรู้ทั้งข้อดีและข้อเสียที่อาจจะเกิดขึ้นกับการ Work from home แล้ว และก็รู้สึกว่าบริษัทเราน่าจะเหมาะ น่าจะทำได้ หรือคิดว่าจะลองนำไปปรับใช้ดูบ้าง สิ่งแรกที่ควรทำเลยคือ
แยกและกำหนดให้ชัดเจนว่างานประเภทไหนที่ทำได้ และงานประเภทไหนที่ทำไม่ได้ (ต้องเข้าใจความจริงข้อนี้ว่าไม่ใช่ทุกงานที่จะทำได้)
พนักงานใหม่บางคนที่ยังไม่เข้าใจ flow งานหรือเนื้องานทั้งหมด การมาทำงานแบบออฟไลน์เจอกันยังคงมีประโยชน์ในการเรียนรู้ตัวงานอยู่มาก และสุดท้ายคือ
อันนี้สำคัญมาก คือ ต้องเข้าใจให้ดีเลยว่าการทำงานแบบ remote นั้นต้องมาพร้อมกับอิสระในการทำงานอย่างแท้จริง อย่าไปพยายาม Micromanagement จนเกินไป หรือพูดอีกแง่หนึ่งก็คือต้อง “ไว้ใจกัน”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น