ฟันธงดิจิทัล 2017 กับ
"เศรษฐพงค์"
"เศรษฐพงค์"
ปี 2017 คือ ปีแห่ง "อนาคตไล่ล่าคุณ!!!"
เราจะได้เห็นการแพร่ภาพสดผ่านสตรีมมิ่ง ด้วยการนำเสนอข่าวสารจากประชาชนมากขึ้นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนจากผู้คนทั่วโลก และคาดว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศที่มีการถ่ายทอดสดบน social media ติดอันดับต้นๆ ของโลก
ผู้ใช้งาน Facebook จะใช้บริการ Facebook Live และ Facebook video (บริการใหม่คล้าย TV) เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ส่วน Youtube ที่ประกาศจะเข้าแทนที่ TV ด้วยโครงการ Unplugged จะเริ่มมีบทบาทมากขึ้น คังนั้น Facebook และ Youtube จะมีบทบาทอย่างยิ่งในการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมโทรทัศน์และบันเทิง
ปรากฏการณ์การแตกกระจายตัวของสื่อดิจิทัลจะเป็นไปด้วยอัตราเร่ง โดยเฉพาะ social media และพฤติกรรมผู้บริโภคจะใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่บน mobile internet platform มากที่สุด จนเป็นสาเหตุในการพลิกผัน (Disruption) ในอุตสาหกรรมโฆษณาและสื่อ ซึ่งจะเกิดปรากฏการณ์ที่องค์กรขนาดกลางและขนาดเล็กเรื่มทำสื่อโฆษณาเองบน mobile social platform จนทำให้เม็ดเงินในอุตสาหกรรมโฆษณาและสื่อลดลงอย่างมาก
จะเกิดปรากฏการณ์ "Citizen journalism" อย่างเต็มรูปแบบ โดยประชาชนจะเป็นผู้ผลิตสื่อเอง และทำหน้าที่เป็นสื่อมวลชนเอง ซึ่งจะเกิดนักข่าวพลเมือง (citizen journalist) ทุกหนทุกแห่ง โดยพวกเขาจะทำการส่งภาพและ VDO รวมไปถึงแพร่ภาพสดในเหตุการณ์จริง และรายงานข่าว ด่วน "breaking news" สู่ social media ด้วยตัวเอง ปรากฏการณ์ดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อวิชาชีพสื่อมวลชนและสถาบันสื่อมวลชน ซึ่งจะทำให้สื่อมวลชนต้องทำงานหนักขึ้น และต้องปรับบทบาทให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงนี้ ซึ่งความสนใจของผู้บริโภคสื่อจะถอยห่างออกจากสื่อโทรทัศน์แบบดั้งเดิมมากขึ้นเรื่อยๆ
สื่อสิ่งพิมพ์กระดาษจะมีอัตราการพิมพ์ที่ลดลงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ เพราะเม็ดเงินในการโฆษณาแตกตัวไปสู่สื่อดิจิทัลมากขึ้นอย่างรวดเร็ว และจะมีธุรกิจหนังสือที่เป็น mass ในหลายประเภทปิดตัวเป็นจำนวนมาก ส่วนสื่อสิ่งพิมพ์ที่มี content เฉพาะกลุ่มอาจอยู่รอดต่อไปอีกระยะหนึ่ง
ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกรายจะปรับรูปแบบธุรกิจใหม่ (New business model) เพื่อเปิดการให้บริการใหม่ๆ ด้วยการทำ joint venture กับ start up ใหม่ๆ เช่น Fintech โดยจะมีความพยายามในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Blockchain เพื่อการให้บริการในการทำธุรกรรม โดยเฉพาะด้านการเงินในรูปแบบต่างๆ บนอุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่
การค้าในรูปแบบ m-commerce จะมีบทบาทมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ และจะเป็นตัวแปรสำคัญในการเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจในหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะมีผลกระทบในอุตสาหกรรมสื่อ, การเงินการธนาคาร, การประกันภัยและค้าปลีก ก่อนอุตสาหกรรมอื่นๆ
คาดว่าประเทศไทยจะมีการใช้ data (ส่วนใหญ่เป็น VDO) เพิ่มสูงขึ้นกว่า 100% จึงทำให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จะต้องพัฒนาคุณภาพด้วยการลงทุน upgrade ขีดความสามารถของโครงข่ายให้สามารถรองรับการใช้งานที่สูงขึ้นอีกเท่าตัว ในขณะที่ยังไม่มีการจัดสรรคลื่นความถี่เพิ่มเติม จึงต้องใช้เทคโนโลยี small cell หรือ cell site ขนาดเล็ก รวมทั้งเพิ่มการครอบคลุมของ Wi Fi ในพื้นที่ตัวเมือง
มีการเริ่มสร้างธุรกิจ Internet of Things (IoT) จากผู้ประกอบการกิจการโทรคมนาคมและผู้เริ่มต้นกิจการดิจิทัลรูปแบบใหม่ ในการให้บริการในภาคโลจิสติกส์, การให้บริการรักษาความปลอดภัย และในหลายธุรกิจที่มีเครื่องมือ sensor ในการตรวจวัด, ตรวจจับสัญญาณ และควบคุมระบบต่างๆ
มีการสร้างธุรกิจใหม่ ที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูล (Data analytics) เพื่อเป็นธุรกิจที่ปรึกษาด้านต่างๆ เช่น การตลาดดิจิทัล ที่ต้องใช้ข้อมูลในการพยากรณ์เพื่อการวางแผนและตัดสินใจในการบริหารงานด้านต่างๆ โดยจะเริ่มนิยมใช้ในกลุ่มผู้บริหารในภาคธุรกิจเป็นส่วนใหญ่ในช่วงแรก และจะค่อยๆ ใช้ในทุกภาคส่วนในอนาคต
มีการสร้างธุรกิจที่มีรูปแบบใหม่คล้าย Uber แต่ให้บริการในด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการพนักงานทำความสะอาด แม่บ้าน การดูแลผู้สูงอายุ การดูแลผู้พิการ นักดนตรี อาจารย์สอนพิเศษ และอื่นๆ อีกมากมาย จนทำให้เกิดธุรกิจที่แปลกใหม่ที่อยู่ในรูปแบบอืสระ โดยไม่มีที่ทำงานแต่อยู่ที่บ้าน เพื่อรอเรียกคิวในการรับงานผ่านอุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G และ 4G ด้วยการบอกตำแหน่งของพนักงานอิสระผ่านแอพพริเคชั่น โดยผู้รับบริการจะเรียกบริการโดยเลือกจากคุณสมบัติและตำแหน่งที่อยู่ของพนักงานอิสระเหล่านั้น ด้วยตนเอง
ภาครัฐและภาคเอกชนจะพบกับภัยคุกคามด้านไซเบอร์อย่างมาก และจะเป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงของสังคม เพราะความแตกต่างทางความคิดของผู้ออกกฎหมาย และผู้ปฏิบัติตามกฎหมาย จะเป็นกลุ่มคนที่เกิดคนละยุคสมัย (ยุคก่อนอินเทอร์เน็ตและยุคหลังอินเตอร์เน็ต) ซึ่งจะมีความแตกต่างทั้งพฤติกรรมและความคิดอย่างสุดขั้ว ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะต่อสู้กันบนโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงทึ่มีทั้งโลกกายภาพและโลกเสมือนไปอีกระยะเวลานานพอสมควร
องค์กรกำกับดูแล (regulators) ทุกองค์กรจะต้องประสบกับปัญหารูปแบบใหม่ ที่ไม่สามารถกำกับดูแลธุรกิจภายใต้การกำกับดูแลได้แบบเดิมอีกต่อไป โดยองค์กรกำกับดูแลทุกองค์กร มีความจำเป็นที่จะต้องปรับตัวและปรับปรุงพัฒนากฎ ระเบียบ ประกาศและกฎหมาย เพื่อให้สอดคล้องกับธุรกิจรูปแบบใหม่ที่ใช้ mobile digital platform เป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจเกือบทั้งหมด
การผลิตทรัพยากรมนุษย์ของประเทศต่างๆ (รวมทั้งประเทศไทย) จะเริ่มมีปัญหาตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เนื่องจากผลผลิตที่ได้อาจจะไล่ตามคุณสมบัติของตำแหน่งงานในอนาคตไม่ทัน จนอาจจะต้องมีการปรับรูปแบบของระบบการศึกษาให้สอดคล้องต่อการเปลี่ยนแปลงด้วยอัตราเร่งของโลก จึงเกิดคำถามว่า "เรากำลังผลิตคนของเราเพื่อทำงานในวันนี้ หรือเพื่อไปทำงานในอนาคต 4-5 ปีข้างหน้ากันแน่?"
"ในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล การทำงานหนักไม่ได้เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จ แต่การทำงานด้วยวิสัยทัศน์ที่เฉียบแหลม โดยใช้ความรู้และปัญญา และยอมรับการทำงานโดยไม่ขึ้นกับสถานที่และเวลา จะเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จของทุกองค์กรและของประเทศ"
โดยสรุปในปี 2017 จะเป็นปีที่เกิดโอกาสใหม่ของธุรกิจดิจิทัลรูปแบบใหม่ และจะเป็นโอกาสสำหรับคนรุ่นใหม่ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ และมีความคล่องแคล่วในการใช้เครื่องมือดิจิทัล แต่อย่างไรก็ตาม เราจะพบกับความท้าทายในหลายมิติ การล่มสลายของธุรกิจรูปแบบดั้งเดิมที่มีพนักงานจำนวนมาก ที่ใช้ผู้บริหารที่มีความคิดแบบอนาล็อกและใช้เครื่องมือในการทำธุรกิจในรูปแบบอนาล็อกด้วยต้นทุนที่สูงมาก ไปจนถึงภัยคุกคามด้านไซเบอร์ที่ผู้นำและผู้บริหารต้องแก้ปัญหากันจนฝุ่นตลบและต้องยอมรับในการปรับตัวอย่างมาก
"ขอให้ทุกท่านโชคดี"
หมายเหตุ
การคาดการณ์ดังกล่าวเป็นผลจากการวิเคราะห์เทียบเคียงจากบทวิเคราะห์ของสถาบันที่น่าเชื่อถือหลายแห่งทั่วโลก โดยมิได้เกิดจากจินตนาการของผู้เขียน
--------------
พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ
รองประธาน กสทช. และประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม
www.เศรษฐพงค์.com
24 ธันวาคม 2559 20:00
การคาดการณ์ดังกล่าวเป็นผลจากการวิเคราะห์เทียบเคียงจากบทวิเคราะห์ของสถาบันที่น่าเชื่อถือหลายแห่งทั่วโลก โดยมิได้เกิดจากจินตนาการของผู้เขียน
--------------
พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ
รองประธาน กสทช. และประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม
www.เศรษฐพงค์.com
24 ธันวาคม 2559 20:00
***************************************************************************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น